นักกฎหมาย/ผู้พิพากษา/ทนายความ/อัยการ
(Lawyers / Judges / Lawyers / Prosecutors)
ที่ปรึกษาทางกฎหมาย / เจ้าหน้าที่ทางกฎหมาย
ผู้ให้บริการทางกฎหมาย ร่างกฎหมาย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายแก่องค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายและให้บริการทางกฎหมายอื่นๆ
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ให้คำแนะนำแก่หน่วยงาน หรือองค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรของเอกชนในด้านกฎหมาย
2. ให้คำแนะนำ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างพระราชบัญญัติ คำสั่ง กฎ ระเบียบข้อบังคับ และเอกสารทางกฎหมายอื่นๆ
3. ร่างพระราชบัญญัติ และเอกสารทางกฎหมายตามที่องค์กร หรือหน่วยงานต้องการ
4. ตีความเรื่องสิทธิ หน้าที่ และข้อผูกพันตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสถานประกอบการให้ฝ่ายจัดการระดับสูงสุดทราบ
5. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ทนายความประจำสถานประกอบกิจการเกี่ยวกับการว่าความคดีต่างๆ ในศาล
สภาพการจ้างงาน
ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทหรือองค์กรที่จ้างงาน เนื่องจากผู้ที่จะประกอบที่ปรึกษาทางกฎหมายจะต้องมีประสบการณ์ในงานทนายความ หรืองานที่เกี่ยวกับงานตุลาการ จึงสามารถทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายได้ ดังนั้นค่าตอบแทนจึงไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัว อาจทำงานเฉพาะเรื่องที่ได้รับการว่าจ้าง ค่าตอบแทนการทำงานเป็นไปตามข้อตกลง ที่ปรึกษาทางกฎหมายที่มีความชำนาญเฉพาะเรื่อง เช่น การทำสัญญา ที่ดินอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจได้รับการว่าจ้างให้ทำงานเฉพาะเรื่องที่ชำนาญการ และได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงกัน
ถ้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐจะมีกำหนดเวลาทำงานตามระเบียบของทางราชการ คือวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และได้รับสิทธิประโยชน์ตามระเบียบของทางราชการ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรเอกชน นอกจากค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแล้ว อาจได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัสพิเศษ หรือให้บริการรถและพนักงานขับรถประจำตำแหน่งขึ้นอยู่กับประเภทของสถานประกอบกิจการนั้นๆ
อาจมีชั่วโมงทำงานไม่แน่นอน อาจจะปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามวันเวลาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาการจ้างงาน ซึ่งอาจจะเป็นการจัดจ้างผู้ชำนาญการจากบริษัทที่ปรึกษา หรืออาจจะเป็นการจัดจ้างกลุ่มข้าราชการตุลาการที่เกษียณอายุแต่ยังมีความสามารถและความชำนาญในเรื่องกฎหมาย
สภาพการทำงาน
ทำงานในสำนักงานมีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไปมีอุปกรณ์ช่วยในการจัดการงานเอกสาร เช่น เครื่องพิมพ์ดีด หรือคอมพิวเตอร์ บางครั้งต้องออกไปติดต่อประสานงานนอกสำนักงาน เช่น ศาล สถานที่อื่นๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ปรึกษาทางกฎหมายตามที่ได้รับมอบหมาย
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
– เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
– ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียบกพร่องในศีลธรรมอันดี และไม่เป็นผู้กระทำการใดๆซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
– มีประสบการณ์ในงานตุลาการทางกฎหมาย ในระดับที่อาจจะเรียกได้ว่าผู้เชี่ยวชาญหรือ ผู้ชำนาญการ และสามารถให้คำปรึกษาทางกฎหมายได้อย่างดี
– ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
– ไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย
– ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคม
– ไม่เป็นผู้มีกายพิการ หรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพ
– ต้องซื่อตรงต่อผู้ว่าจ้าง ผู้ร่วมงานอำนวยการความยุติธรรม ชุมชน ผู้ร่วมสำนักงาน มีความซื่อสัตย์ และรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า แล้วสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาคณะนิติศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี จากมหาวิทยาลัยในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเอกชน จากนั้นจะต้องสมัครเข้ารับการฝึกอบรม และสอบขอรับใบอนุญาตว่าความทั่วราชอาณาจักร การแสวงหาประสบการณ์ในคดีความต่างๆ หรือการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิตทางกฎหมายจะช่วยให้มีความรอบรู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมากขึ้นจนสามารถประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายได้ดี
โอกาสในการมีงานทำ
อาชีพนี้เป็นที่ต้องการของหน่วยงานทั่วไปทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพราะที่ปรึกษาทางกฎหมายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ผ่านการทำงานทางด้านกฎหมายมานานพอที่จะให้คำปรึกษาทางกฎหมายในหน่วยงานนั้นๆ ได้ หรืออาจจะเป็นอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่มีความชำนาญ หรือมีชื่อเสียง หรืออาจจะเป็นคณะผู้ชำนาญทางกฎหมายร่วมก่อตั้งสถานประกอบกิจการในลักษณะบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย การบัญชี และภาษีอากร หรือบริษัททนายความ โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพรวมทั้งค่าตอบแทนจะค่อนข้างสูง เนื่องจากส่วนมากจะเป็นการจัดจ้างในลักษณะผู้ชำนาญการพิเศษ นอกเหนือจากการจัดงานบุคลากรทางด้านกฎหมายทั่วไปที่ปฏิบัติงานประจำ
อาชีพนี้จัดได้ว่าเป็นจุดเป้าหมายสูงสุดของผู้ประกอบอาชีพทางกฎหมาย เช่น ทนายความ เนื่องจากการได้เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย จัดได้ว่าต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการไว้วางใจ และเชื่อถือจากหน่วยงานนั้นๆ และส่วนมากที่ปรึกษาทางกฎหมายมักจะเป็นผู้ที่มีอาวุโสทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของสังคมอยู่แล้ว
ผู้พิพากษา
ผู้มีอำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ตรวจคำคู่ความซึ่งยื่นต่อศาลเพื่อสั่งรับ หรือไม่รับ หรือให้ทำใหม่ หรือให้แก้ไขเพิ่มเติม
2. ควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ออกข้อกำหนด เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ออกหมายเรียก ออกหมายอาญา
3. ออกหมายสั่งให้ส่งคนมาจาก หรือไปยังจังหวัดอื่นหรือออกคำสั่งใดๆ
4. ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง หรือคำขอ
5. ไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา ไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน
6. นั่งพิจารณาคดี และควบคุมการนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความ ตรวจบุคคล วัตถุสถานที่ หรือตั้งผู้เชี่ยวชาญ ใช้ดุลยพินิจวินิจฉัย ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง
7. พิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีทั้งทางแพ่ง และทางอาญาโดยยุติธรรมตามกฎหมาย
8. บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา
9. ทำรายงานการคดี และกิจการของศาลส่งตามระเบียบ
10. ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่น ให้เป็นไปโดยถูกต้อง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว
11. มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่างประเภทกันตามประเภทของศาล
สภาพการจ้างงาน
ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อนผู้ได้รับคะแนนต่ำลงมาตามลำดับแห่งบัญชีสอบคัดเลือก ผู้ประกอบอาชีพผู้พิพากษาจะมีบัญชีอัตราเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ แตกต่างตามประเภทศาลและตำแหน่ง โดยทำงานประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจจะต้องเข้าเวรในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด เพื่อทำหน้าที่ลงนามคำสั่งในหมายศาล ในกรณีที่ต้องดำเนินทันทีไม่สามารถรอจนถึงวันทำการได้
สภาพการทำงาน
ผู้พิพากษามีห้องทำงานที่มีสภาพเหมือนห้องทำงานทั่วไป และเมื่อต้องทำหน้าที่ตัดสินคดีความจะต้องนั่งบังลังก์ปฏิบัติหน้าที่พิพากษาเป็นประธานในห้องตัดสินคดีความ อาจจะต้องปฏิบัติงานประจำศาลในต่างจังหวัด โดยเฉลี่ยจะปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 3-4 ปีในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีบ้านพักผู้พิพากษาประจำในทุกจังหวัด หรืออาจจะปฏิบัติหน้าที่ประจำศาลในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประกาศของคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- ไม่เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
- อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบรูณ์ เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิตยสภาจากสำนักเนติบัณฑิตยสภา
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
บุคคลผู้ประสงค์จะเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษามีได้ 3 ทางคือ
1. สมัครสอบคัดเลือก ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
2. สมัครทดสอบความรู้ ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
3. สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษต้องอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์
ผู้ที่จะเข้าเป็นผู้พิพากษาโดย 3 ทางดังกล่าวข้างต้น ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่นต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดไม่เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เป็นต้น
และสำหรับผู้สอบคัดเลือกตามข้อ 1 ต้องมีคุณวุฒิ และได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็น จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือพนักงานคุมความประพฤติของศาลยุติธรรม พนักงานอัยการ นายทหารเหล่าพระธรรมนูญ ทนายความ หรือประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย ตามที่ ก.ต.กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีทั้งนี้ให้ ก.ต. มีอำนาจออกระเบียบกำหนด เงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ด้วย
หลักเกณฑ์ และวิธีการสมัครสอบคัดเลือก ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด
ผู้สมัครทดสอบความรู้ตามข้อ 2 ต้องมีคุณวุฒิและได้ประกอบวิชาชีพดังต่อไปนี้
1. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
2. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ก. สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียว ไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่ง ก.ต. เทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือสอบได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง
ข. สอบไล่ได้ปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปี หรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ (ประกอบวิชาชีพเป็นจ่าศาล พนักงานอัยการ ฯลฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี)
ค. สอบไล่ได้ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
ง. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิตชั้นเกียรตินิยม และได้ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์ใน คณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
จ. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต และเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม ที่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกปี และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับรองว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรู้ความสามารถดี และมีความประพฤติดีเป็นที่ไว้วางใจว่าจะปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการได้
ฉ. สอบไล่ได้ปริญญาโท หรือปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ ก.ต. กำหนด และเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) หรือได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี หรือ
ช. สอบไล่ได้ปริญญาตรี หรือที่ ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ ก.ต.กำหนดและได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้น และเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต
ให้ ก.ต. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพตาม (2) (จ) (ฉ) และ (ช) ด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสมัครทดสอบความรู้ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ตามข้อ 3 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ก. เป็น หรือเคยเป็นศาสตราจารย์ หรือ รองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ
ข. เป็น หรือเคยเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
ค. เป็น หรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการประเภทอื่นในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่าขึ้นไป
ง. เป็น หรือเคยเป็นทนายความมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
3. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ดีเด่นในสาขาวิชากฎหมายตามที่ ก.ต.กำหนด
4. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีบุคลิกภาพ มีความประพฤติ และทัศนคติเหมาะสมแก่ การปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ
หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกพิเศษ ให้ ไปตามระเบียบที่ ก.ต.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โอกาสในการมีงานทำ
ตำแหน่งผู้พิพากษาถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นงานที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชนพลเมือง และทำงานในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ มีบัลลังก์นั่งสูงกว่าข้าราชการธรรมดา แม้ปัจจุบันนี้ความคิดดังกล่าวจะลดน้อยลงเนื่องจากจำนวนผู้พิพากษามากขึ้น อีกทั้งฐานะในทางสังคมและเกียรติภูมิของข้าราชการฝ่ายอื่น ตลอดจนพ่อค้านักธุรกิจสูงขึ้น แต่ตำแหน่งผู้พิพากษาก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาจึงต้องดำรงตนให้น่าเชื่อถือ ดังนั้นกิจการบางอย่างซึ่งขัดกับงานในตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยในความเป็นกลางก็ห้ามไว้มิให้กระทำ เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเมื่อมีความชำนาญและประสบการณ์จะสามารถได้รับการเลื่อนขั้น ตำแหน่งตามสายงานไปได้จนถึงตำแหน่งบริหารของข้าราชการตุลาการ ประธานศาลฎีกา การประกอบการอื่นเพื่อหารายได้พิเศษ แม้จะเป็นงานสุจริตกฎหมายก็ห้ามไว้มิให้กระทำ เนื่องจากผู้พิพากษาต้องดำรงตนให้น่าเชื่อถือไม่ควรทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยในความเป็นกลางหรือความเป็นธรรม และสำหรับผู้พิพากษาอัตราเงินเดือนจัดได้ว่าสูงกว่าข้าราชการสังกัดอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่ให้เหมาะสมกับภาวะสังคม
ทนายความ
ผู้ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และให้บริการทางกฎหมายอื่นๆ รวมถึงการปฏิบัติงานทั่วๆ ไปเกี่ยวกับกฎหมาย เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย การว่าความคดีอาญา และคดีแพ่ง ให้คำแนะนำแก่ลูกความเกี่ยวกับปัญหาบุคคล และธุรกิจในแง่ของกฎหมาย และทำแทนลูกความในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย ดำเนินการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในนามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ทนายความเป็นอาชีพหนึ่งของนักกฎหมาย ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการยุติธรรมอันประกอบด้วย ศาล อัยการ ตำรวจ และราชทัณฑ์
ลักษณะของงานที่ทำ
1. ปฏิบัติงานทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย เช่น ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จัดทำเอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย
2. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย และดำเนินการแทนคู่ความทั้งทางอาญา และแพ่ง
3. ตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ และค้นตัวบทกฎหมายที่จะนำมาใช้โดยการศึกษาประมวลกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา เทศบัญญัติ คำพิพากษาของศาลสูงที่มีมาแล้ว และกฎข้อ-บังคับที่ตราขึ้นไว้
4. ให้คำแนะนำแก่ลูกความถึงสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมาย
5. ทำการแทนลูกความในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย จัดทำเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายและค้นหาบรรพต่างๆ ในประมวลกฎหมาย
6. ว่าความ และดำเนินกระบวนการพิจารณาใดๆ ในศาลแทนคู่ความทั้งในคดีแพ่ง และคดีอาญา มีบทบาทในการสร้าง และรักษาความเป็นธรรมให้กับสังคม
7. มีบทบาทในการคุ้มครอง ดูแลรักษาผลประโยชน์ของบุคคล และองค์กรธุรกิจเอกชนต่าง ๆ
8. มีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำ ในการดำเนินการต่างๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมาย
9. มีบทบาทเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ด้วย
10. อาจเชี่ยวชาญในงานกฎหมายสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ
11. อาจเป็นทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายประจำองค์กร บรรษัท ห้างหุ้นส่วน บริษัท นิติบุคคล คณะบุคคล หรือเอกชน
สภาพการจ้างงาน
อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่มีคนนิยมทำกันมาก เพราะเป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้ดี และเป็นอาชีพที่มีเกียรติ โดยผู้ที่เป็นทนายความสามารถทำงานมีเงินเดือนประจำ ขึ้นอยู่กับความสามารถประสบการณ์ และประเภทของหน่วยงานที่ทำงาน หรือประกอบอาชีพทนายความอิสระรับว่าความทั่วไป โดยอาจได้รับค่าตอบแทนจากการว่าความ ร้อยละ 10 - 20 ของทุนทรัพย์ในคดีนั้นๆ หรืออาจจะได้รับค่าตอบแทนตามแต่จะตกลงกับลูกความ แล้วแต่งานที่รับและขนาดของทุนทรัพย์ในแต่ละคดี
สภาพการทำงาน
ทำงานในสำนักงานมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเช่นสำนักงานทั่วไป มีอุปกรณ์ช่วยในการจัดการงานเอกสาร เช่นคอมพิวเตอร์ บางครั้งต้องออกไปติดต่อประสานงานนอกสำนักงาน เช่น ศาล สถานีตำรวจ สถานที่อื่นๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจทนายความตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนใหญ่ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่การทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติอาจจะต้องมาทำงานในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด
การทำงานของทนายความเป็นงานที่ต้องมีผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายอันเนื่องมาจากลักษณะงาน การฟ้องร้องระหว่างคู่คดีอาจสร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่าย หรืองานในหน้าที่อาจจะทำให้ผู้อื่นเสียผลประโยชน์ ทำให้เกิดความโกรธแค้น และอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายและชีวิตได้ ผู้เป็นทนายความควรที่จะจัดให้เกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย มีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ไม่ใช้ความรู้ในอาชีพเอาเปรียบหรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์
- ต้องขอจดทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นทนายความจากสภาทนายความมีสัญชาติไทย
- อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ในวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และรับในอนุญาต
- ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียบกพร่องในศีลธรรมอันดี และไม่เป็นผู้ได้กระทำการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
- ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
- ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
- ไม่เป็นบุคคลผู้ต้องพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย
- ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคม
- ไม่เป็นผู้มีกายพิการ หรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพ
- ไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำเว้นแต่ ข้าราชการการเมือง
- ต้องซื่อตรงต่อลูกความ ผู้ร่วมงานอำนวยการความยุติธรรม ชุมชน ผู้ร่วมสำนักงาน และตนเอง
- มีความสนใจในด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และต้องชอบที่จะท่องจำเพราะวิชานิติศาสตร์เป็นการเรียนที่ต้องท่องจำมาก เช่น กฎระเบียบ มาตราต่างๆ เป็นต้น
การเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาชีพ
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ต้องสอบเข้ารับการคัดเลือกหรือเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาคณะนิติศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีทางนิติศาสตร์
หรือประกาศนียบัตรในวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี จากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาทนายความเห็นว่าสถาบันนั้นมีมาตรฐานการศึกษาที่ผู้ได้รับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรควรเป็นทนายความได้และเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าต้องเข้ารับการอบรมจากสภาทนายความ โดยอบรมภาคทฤษฎีหลักสูตร 6 เดือน และอบรมภาคปฏิบัติหลักสูตร 6 เดือน จึงสมัครเข้าสอบขอใบอนุญาตว่าความผ่านการทดสอบจะได้รับใบอนุญาตว่าความทั่วราชอาณาจักรจากสภาทนายความ
โอกาสในการมีงานทำ
อาชีพทนายความ ถือเป็นอาชีพที่สำคัญอีกอาชีพหนึ่งซึ่งจะมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ และบุคคลเพราะทนายความจะมีความชำนาญทางกฎหมาย ความต้องการของทนายความมีสูงขึ้นเรื่อยๆโดยดูได้จากคดีที่เกิดขึ้นที่กรมตำรวจ ล้วนแต่ต้องใช้ทนายความเข้ามาช่วยในคดีทั้งสิ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทนายความมีคดีว่าความมากขึ้นเนื่องจากจะมีคดีฟ้องร้องในเรื่องการค้างชำระหนี้มากขึ้นแต่รายได้จาก การว่าความจะไม่ค่อยมากนักเนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่สามารถชำระค่าเสียหายได้ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ความต้องการแรงงานในอาชีพมีอยู่ตลอด ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญความเก่งและชื่อเสียงของทนายความแต่ละคนด้วย นอกจากนี้ทนายความอิสระบางคนอาจจะรับทำงานสืบสวนให้บุคคลที่ต้องการให้สืบสวนหรือติดตามสิ่งของหรือบุคคลที่ต้องการค้นหา
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
นอกจากจะประกอบอาชีพเป็นทนายความแล้วยังสามารถเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของหน่วยงาน เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของหน่วยงาน เป็นพนักงานอัยการ และก้าวไปสู่การเป็นผู้พิพากษาก็ได้ และนอกจากนี้อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่มีความชำนาญทางกฎหมายเป็นพิเศษ จึงเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับอาชีพอื่นได้มากมาย เช่น นักการเมือง ทหารตำรวจ เจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน เจ้าหน้าที่การเงิน หรือครู อาจารย์เป็นต้น
ทนายความที่มีความสามารถและมีความรู้ทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างดี อาจได้รับการว่าจ้างให้เป็นทนายความว่าความในต่างประเทศ หรืออาจเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจาทางด้านกฎหมาย หรือสิทธิประโยชน์ของประเทศ
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะนิติศาสตร์
4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์
5. มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะนิติศาสตร์
6. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์
7. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะนิติศาสตร์
8. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์
9. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะนิติศาสตร์
10. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สาขาวิชานิติศาสตร์
11. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชานิติศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์
12. มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์
13. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะนิติศาสตร์
14. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะนิติศาสตร์
15. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์
16. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์
17. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิติศาสตร์
18. มหาวิทยาลัยเกริก คณะนิติศาสตร์
19. มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะนิติศาสตร์
20. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิติศาสตร์
ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ