ผู้แปลภาษาและล่าม
 
       ผู้ที่ทำงานแปลและเป็นล่ามรวมถึงการจัดทำระบบการจัดประเภทของภาษา การทำพจนานุกรม และหนังสือที่เกี่ยวข้องกันโดยการแปลคำพูดหรือข้อความที่พิมพ์ หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรจากภาษาเดิมเป็นภาษาอื่น ตั้งแต่หนึ่งภาษาขึ้นไปรวมถึงการจัดทำระบบการจัดประเภทของภาษา การทำพจนานุกรม และหนังสือที่เกี่ยวข้องกัน
 
ลักษณะของงานที่ทำ
       แปลข้อความที่พิมพ์หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรจากภาษาเดิมเป็นภาษาอื่นตั้งแต่หนึ่งภาษาขึ้นไป เช่น วรรณคดี บทความทางวิชาการ บทความในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร เอกสารทางการเมืองและเอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย จดหมายโต้ตอบ และข้อความที่พิมพ์หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรโดยการใช้ความรู้จากภาษาเดิม สำหรับผู้แปลหนังสือภาษาต่างประเทศโดยได้รับลิขสิทธิ์ในการแปลเรียกว่า "นักแปล" อาจแปลหนังสือนวนิยาย หรือหนังสือ ที่ใช้เป็นบทเรียนในภาควิชาการบริหารและการตลาด ส่วน “ล่าม” ทำหน้าที่แปลคำพูด หรือคำบรรยาย ในระหว่างการสนทนา หรือการบรรยายให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหลายคนในเวลาเดียวกัน
 
สภาพการจ้างงาน
       สำหรับเจ้าหน้าที่ในองค์กรของรัฐบาลจะได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาและอาจมีค่าวิชาชีพเพิ่มให้ ในภาคเอกชนจะได้รับการว่าจ้างในอัตราเงินเดือนที่มากกว่า 5 - 10 เท่า ขึ้นไปตามความสามารถและความรับผิดชอบ 
ผู้ประกอบอาชีพอิสระในการแปลหนังสือนวนิยายต่างประเทศ ค่าจ้างแปลโดยเฉลี่ยเป็นชิ้นงานตามความหนาของหนังสือ ซึ่งใช้เวลาแปลประมาณ 1 - 2 เดือน และในกรณีถ้ามีการพิมพ์ซ้ำผู้แปลจะได้ค่าแปลเพิ่มขึ้นตามแต่เปอร์เซ็นต์ที่ตกลงไว้กับผู้ว่าจ้าง นอกจากนี้ยังมีการแปลบทภาพยนตร์ต่างประเทศที่แพร่ภาพทางทีวีและฉายในโรงภาพยนตร์ การแปลบทภาพยนตร์จะได้รับค่าจ้างที่สูงพอสมควร 
 
สภาพการทำงาน
       อาจทำงานประจำในองค์กรต่างๆ เช่น สำนักงานทนายความและบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทอุตสาหกรรม บริษัทอุตสาหกรรมร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ บริษัทก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร โดยทำหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในสำนักงานหรือในกรณีที่ทำหน้าที่ล่ามต้องเดินทางออกไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทำงานในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ และอาจต้องทำหน้าที่เลขานุการของ ผู้บริหารด้วย ในการออกไปทำงานนอกสถานที่ งานที่ทำอาจมีความกดดันในเรื่องเวลาปฏิบัติงานพอสมควร คือชั่วโมงทำงานอาจนานจนกว่าการสนทนา การบรรยาย หรือการเจราจาธุรกิจจะเสร็จสิ้น 
สำหรับ "นักแปล" ที่รับจ้างแปลงานให้กับบริษัทนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ และสำนักพิมพ์นั้นสามารถปฏิบัติงานที่บ้านได้ โดยนำงานต้นฉบับแปลส่งตามที่กำหนดกับผู้ว่าจ้างไว้ นักแปลต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้งานแล้วเสร็จทันกำหนดเวลา
 
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
- มีความรู้ระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท สาขาอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง หรืออย่างน้อยมีความสามารถในการแปลอย่างช่ำชองทั้งสองภาษา 
- สนใจและรักในภาษาและมีความรู้ความชำนาญในภาษาของตนเองไม่น้อยไปกว่าต้นฉบับ 
- เป็นผู้มีความรู้ในภาษาต้นฉบับและภาษาที่ใช้ในการแปลดีพอ 
- เป็นผู้หมั่นค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งในงานที่ทำและงานแขนงอื่นๆ 
- เป็นผู้มีวิจารณญาณในการแปล 
- เป็นผู้มีใจเปิดกว้างยอมรับข้อติติงจากทั้งเพื่อนร่วมงานและผู้ว่าจ้าง 
- เป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ และความละเอียดอ่อนในการแปล 
 
การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ
       สำหรับผู้จบปริญญาตรีสาขาวิชาใดก็ได้แต่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทั้งการเขียน พูดแปล สามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรการแปลแบบมืออาชีพ ได้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือโครงการศึกษาต่อเนื่องของแต่ละมหาวิทยาลัย
 
โอกาสในการมีงานทำ
       ปัจจุบันผู้แปลภาษาต่างประเทศและล่ามเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เนื่องมาจากการเปิดการค้าเสรีและการสื่อสาร ไร้พรมแดน ทำให้ธุรกิจทุกวงการต้องหันมาส่งเสริมพนักงานทุกคนในองค์กรให้ใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างน้อย นอกเหนือไปจากการจ้างพนักงานประจำทั้งนักแปล และล่าม ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เยอรมันกันอย่างมากมายในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม วงการก่อสร้างงานสาธารณูปโภคระดับนานาชาติและบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบผู้แปลภาษาต่างประเทศและล่าม จึงมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก เพราะบางบริษัทจ้างพนักงานแปลหรือล่ามที่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้มากกว่า2 ภาษา และจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ผู้ที่มีความสามารถด้านการแปลภาษาสามารถเลือกงานได้ตามที่ตนต้องการ 
       ผู้แปลภาษาต่างประเทศและล่ามมีความมั่นใจในตนเองสูง และเป็นอาชีพอิสระอาจเลือกทำงานตามอุดมคติได้ เช่น ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศในโครงการต่างๆได้ ถ้าไม่ต้องการเป็นนักแปล หรือล่าม บรรณาธิการข่าวต่างประเทศอาจเป็นอาชีพเสริมนอกเหนืองานประจำ
 
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
       มีโอกาสก้าวหน้าทางด้านวิชาชีพในเรื่องของค่าจ้างและเงินเดือน อาจได้รับตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศจนถึงระดับผู้บริหาร ถ้าผู้แปลหรือล่ามมีความชำนาญพิเศษและมีประสบการณ์ในระดับสูงอาจทำงานกับองค์กรนานาชาติได้
 
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้อง
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะมนุษยศาสตร์
4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์
5. มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
6. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ 
7. มหาวิทยาลัยนครพนม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
8. มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์
9. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
10. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะศิลปศาสตร์
11. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
12. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปศาสตร์
13. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
14. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาศิลปศาสตร์
15. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์
16. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะมนุษยศาสตร์
17. มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์
18. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะศิลปศาสตร์
19. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะศิลปศาสตร์
20. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะศิลปศาสตร์
 
ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ